Saturday, April 9, 2011

Danae and the Shower of Gold หญิงสาวผู้เลอโฉมกับละอองทองคำที่โปรยปราย (2)

สำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่หนึ่ง
Danae and the Shower of Gold หญิงสาวผู้เลอโฉมกับละอองทองคำที่โปรยปราย (1)

ดานายมักถูกวาดออกมาในแนวอีโรติก เป็นหญิงสาวรูปโฉมงดงามนอนเปลือยกายอยู่บนเบาะหรือบนเตียงขนาดใหญ่ดูหนานุ่ม ข้างกายเป็นแม่นมหรือพี่เลี้ยงผู้ซึ่งบางครั้งจะอยู่ในอิริยาบถขณะกำลังใช้ผ้ากันเปื้อนรองรับทองคำที่ร่วงหล่นลงมาจากฟากฟ้า ศิลปินยุคเรเนซองส์หลายคนตีความดานายเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่ถูกบิดเบือนไปด้วยอำนาจของเงิน ผลกระทบของความมั่งคั่งที่แปดเปื้อนศีลธรรมและความรักอันบริสุทธิ์ของหญิงสาว เทพเจ้าซุสซื้อดานายด้วยทองคำ สิ่งลำค่าที่สามารถทำลายกำแพงทองเหลืองที่กักขังดานายเอาไว้ สามารถปลดล็อคหอคอยที่ร่ำลือกันว่าแน่นหนา สามารถทำให้หญิงสาวที่มีแววตาแข็งกร้าวจำต้องเข่าอ่อน สามารถบิดเบือนความตั้งใจของดานาย ไม่จำเป็นที่จะต้องมีคู่ครองเพื่อสวดมนต์ต่อเทพีอะโฟรไดท์ หากใครสักคนพร้อมจะหยิบยื่นความมั่งคั่งมาให้ 


Danae by Francois Boucher

Friday, April 8, 2011

Danae and the Shower of Gold หญิงสาวผู้เลอโฉมกับละอองทองคำที่โปรยปราย (1)

สำหรับใครที่ชอบอ่านเทพนิยายกรีกโรมัน คงจะรู้สึกคุ้นเคยกับชื่อและตำนานของเพอร์ซุส (Perseus) วีรบุรุษผู้พิชิตเมดูซ่า(Medusa) อสุรกายในคราบหญิงสาวผู้มีผมเป็นงูได้เป็นอย่างดี แต่จะมีสักกี่คนกันที่จะจำ "ดานาย" (Danae) หญิงสาวผู้เป็นมารดาของเพอร์ซุสและเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ใจของเธอ ในวงการศิลปะ ตำนานของดานายเริ่มเป็นที่สนใจอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่ยุคเรเนซองส์เป็นต้นมา หนึ่งในศิลปินผู้มีชื่อเสียงซึ่งนำเรื่องราวของดานายมาตีแผ่บนผืนผ้าใบคือ คอเรจจิโอ้ (Corregio) ติเตียน (Titian) เรมแบรนด์ (Rembrandt) และกุสตาฟ คลิมท์ (Gustav Klimt)

Danae and the Shower of Gold
โดย Leon Francois Comerre

Saturday, April 2, 2011

DADAISM ศิลปะเพื่อต่อต้านความเป็นศิลปะ

ลัทธิดาด้า หรือ ดาด้าอิสม์ (Dadaism) คืออะไร? ศิลปะแบบดาด้าคือการเยาะเย้ย ถากถาง เสียดสี แดกดัน ประชดประชันแบบไร้เหตุผล เป็นการแสดงความเหลวไหลไร้สาระ ไม่ต่างอะไรกับชื่อเรียก "ดาด้า" ซึ่งแปลว่าม้าโยก หรือเสียงร้องอ้อแอ้ของเด็กน้อย ในภาษาฝรั่งเศส

จุดกำเนิดของศิลปินในกลุ่มดาด้าคือ ความเกลียดชังที่มีต่อสงคราม และความเกลียดชังที่มีต่อบุคคลซึ่งชอบยกเอาความคิดของตนมาอ้างเป็นเหตุผลในการทำลายล้างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อีกนัยหนึ่งคือ พวกดาด้าต่อต้านแนวคิดซึ่งอ้างอิง "เหตุผล" และ "ตรรกะ" อันได้รับอิทธิพลมาจากความเป็นทุนนิยมที่ภายหลังนำไปสู่สงคราม นี่จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ศิลปะแบบดาด้าเป็นอะไรที่ดูไร้เหตุผล ดูดิบเถื่อน ออกนอกกรอบขนบประเพณี เพราะขนบธรรมเนียมประเพณี ก็สามารถเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเพื่อนมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน พวกดาด้าจะดูแคลนศิลปะที่มีแบบแผนว่าเป็นความเสเเสร้งหลอกลวง หลงอยู่ในโลกแห่งความฝัน ไม่ยอมรับความเป็นจริงที่ว่าโลกไม่ได้สร้างขึ้นอยู่บนความสมบูรณ์แบบ แต่กลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และความดำมืดที่สอดแทรกในทุกๆสังคมอย่างไม่มีวันลบล้างออกได้ต่างหาก

Cut with the Dada Kitchen Knife through the Last Weimar Beer-Belly Cultural Epoch in Germany
งานคอลลาจจากหนังสือพิมพ์ ตัวอย่างศิลปะแบบดาด้า โดย  Hannah Höch