Saturday, April 2, 2011

DADAISM ศิลปะเพื่อต่อต้านความเป็นศิลปะ

ลัทธิดาด้า หรือ ดาด้าอิสม์ (Dadaism) คืออะไร? ศิลปะแบบดาด้าคือการเยาะเย้ย ถากถาง เสียดสี แดกดัน ประชดประชันแบบไร้เหตุผล เป็นการแสดงความเหลวไหลไร้สาระ ไม่ต่างอะไรกับชื่อเรียก "ดาด้า" ซึ่งแปลว่าม้าโยก หรือเสียงร้องอ้อแอ้ของเด็กน้อย ในภาษาฝรั่งเศส

จุดกำเนิดของศิลปินในกลุ่มดาด้าคือ ความเกลียดชังที่มีต่อสงคราม และความเกลียดชังที่มีต่อบุคคลซึ่งชอบยกเอาความคิดของตนมาอ้างเป็นเหตุผลในการทำลายล้างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อีกนัยหนึ่งคือ พวกดาด้าต่อต้านแนวคิดซึ่งอ้างอิง "เหตุผล" และ "ตรรกะ" อันได้รับอิทธิพลมาจากความเป็นทุนนิยมที่ภายหลังนำไปสู่สงคราม นี่จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ศิลปะแบบดาด้าเป็นอะไรที่ดูไร้เหตุผล ดูดิบเถื่อน ออกนอกกรอบขนบประเพณี เพราะขนบธรรมเนียมประเพณี ก็สามารถเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเพื่อนมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน พวกดาด้าจะดูแคลนศิลปะที่มีแบบแผนว่าเป็นความเสเเสร้งหลอกลวง หลงอยู่ในโลกแห่งความฝัน ไม่ยอมรับความเป็นจริงที่ว่าโลกไม่ได้สร้างขึ้นอยู่บนความสมบูรณ์แบบ แต่กลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และความดำมืดที่สอดแทรกในทุกๆสังคมอย่างไม่มีวันลบล้างออกได้ต่างหาก

Cut with the Dada Kitchen Knife through the Last Weimar Beer-Belly Cultural Epoch in Germany
งานคอลลาจจากหนังสือพิมพ์ ตัวอย่างศิลปะแบบดาด้า โดย  Hannah Höch
กลุ่มดาด้าถือกำเนิดขึ้นที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งช่วงปี 1916 ถึงแม้กระแสศิลปะแนวนี้จะแพร่กระจายทั่วยุโรปและเดินทางไปยังฝั่งอเมริกาได้อย่างรวดเร็ว แต่มันก็ไม่ได้มั่นคงนักเมื่อมันได้แปรเปลี่ยนไปเป็นศิลปะแนว Surrealism ในช่วงปี 1924 จุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ศิลปะแนวดาด้ามีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครคือมุมมองที่มีต่อคำว่า "ศิลปะ" ในแง่มุมของพวกดาด้า ทุกสิ่งคืองานศิลปะ ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล ไม่จำเป็นต้องมีแบบแผน ไม่จำเป็นแม้แต่จะต้องมีความสวยงาม ศิลปะเเบดาด้าเน้นที่การสื่อความหมายแบบหยาบโลนตรงไปตรงมา นักวิจารณ์ศิลปะในสมัยนั้นถึงกับกล่าวไว้ว่า ศิลปะแบบดาด้าคือ "ที่สุดแห่งความบิดเบือนและความด้านชาซึ่งมากเท่าที่สมองมนุษย์จะสามารถรังสรรค์ขึ้นมาได้" นักประวัติศาสตร์ศิลป์ให้คำจำกัดความถึงศิลปะแนวดาด้าไว้ว่า "เป็นปฏิกิริยาต่อต้านสถาณการณ์ที่มองได้ว่าไม่ต่างอะไรกับการฆาตรกรรมหมู่แบบโรคจิต"

หนึ่งในศิลปินแนวดาด้าที่มีชื่อเสียงคือ มาร์เซล ดูฌ็องป์ (Marcel Duchamp) เจ้าของผลงานอมตะ  "L.H.O.O.Q." ซึ่งเป็นการนำผลงานชิ้นเอก "โมนา ลิซ่า" มาละเลงเติมหนวดและเคราแพะเสียจนหมดคราบหญิงสาวเจ้าของรอยยิ้มสะกดโลกกันเลยทีเดียว ผลงานชิ้นนี้ทำให้เราเห็นว่าพวกดาด้าต่อต้านความสมบูรณ์แบบในงานศิลปะ ต่อต้านความงาม และมีความคิดในเชิงทำลายความเชื่อที่มีมาแต่เก่าก่อน เน้นการแสดงความคิดอ่านของตนเองในออกมาเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่ายึดติดกับความคิดที่มีมาแต่เดิม 


นักวิจารณ์หลายคนกังขาว่าการทำลายล้างคุณค่าของงานศิลป์ดั้งเดิมจะสามารถนับเป็นศิลปะได้หรือไม่ แต่ ดูฌ็องป์ ก็ได้ให้แนวคิดไว้ว่า "อะไรที่ศิลปินบอกว่ามันเป็นงานศิลปะ มันก็ต้องเป็นงานศิลปะตามที่ศิลปินบอก" เป็นการมองโลกแบบเรียบง่ายและไม่แคร์กระแสสังคมหลัก ฟังดูคลับคล้ายคลับคลากับอะไรบ้างไหม? ใช่แล้ว แนวคิดดาด้าเป็นต้นแบบของแนวคิดแรงๆที่มีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันอย่าง พังก์ร๊อค อวองการ์ด และป๊อบอาร์ต เป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินไม่ใช่เพียงรูปแบบศิลปะภาพเขียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงแนวเพลงและศิลปะในรูปแบบอื่นอีกด้วย ส่วนแนวคิดดาด้าเองนั่นค่อยๆสลายตัวไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ศิลปินแนวดาด้าหลายคนได้เดินทางมายังฝรั่งอเมริกาและรวมตัวกันเป็นศิลปินในแนวคิดแบบใหม่ เช่น โมเดิร์นิสม์ (Modernism) ในขณะที่ศิลปินแนวดาด้าในยุโรปบางคนโดนกวาดล้างโดยกองทัพเยอรมันภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้ซึ่งต่อต้านการทำลายศิลปะในแบบคลาสสิคและการรังสรรค์งานแบบดั้งเดิมอันเป็นมรดกของสังคมโลก

แต่หากเรามาคิดอีกแง่แล้ว ความคิดในแนวดาด้าคือการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่มีต่อภาวะโลกปัจจุบัน มันคือการตั้งคำถามต่อสภาพสังคมที่มีอยู่ นี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แนวคิดดาด้าได้รับกระแสทางลบจากหลายฝ่าย เป็นการข่มขู่กดดันผู้มีอำนาจ สั่นคลอนอำนาจสูงสุดในสังคม และบ่อนทำลายระเบียบสังคมจอมปลอมที่ผู้มีอิทธิพลบางคนพยายามปกปิดเอาไว้ด้วยการทำความดีอันน้อยนิดมหาศาล แต่อย่างมากที่สุดที่ทำได้คือการควักเอาความชั่วร้ายในสังคมออกมาตีแผ่บนผืนผ้าใบ 

หากผู้คนหยุดมอง และสนใจสิ่งที่ศิลปินดาด้าพยายามจะสื่อออกมาสักนิด สังคมอาจจะได้รับการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อยก็เป็นได้



3 comments:

  1. ขอบคุณค่ะ มี Surrealism มั้ยค่ะ

    ReplyDelete
  2. ไม่ได้แวะเวียนมาอัพนานแล้ว แต่จะเริ่มกลับมาอัพเดทแล้วค่ะ อดใจรอนิดนะคะ

    ReplyDelete