Saturday, April 9, 2011

Danae and the Shower of Gold หญิงสาวผู้เลอโฉมกับละอองทองคำที่โปรยปราย (2)

สำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่หนึ่ง
Danae and the Shower of Gold หญิงสาวผู้เลอโฉมกับละอองทองคำที่โปรยปราย (1)

ดานายมักถูกวาดออกมาในแนวอีโรติก เป็นหญิงสาวรูปโฉมงดงามนอนเปลือยกายอยู่บนเบาะหรือบนเตียงขนาดใหญ่ดูหนานุ่ม ข้างกายเป็นแม่นมหรือพี่เลี้ยงผู้ซึ่งบางครั้งจะอยู่ในอิริยาบถขณะกำลังใช้ผ้ากันเปื้อนรองรับทองคำที่ร่วงหล่นลงมาจากฟากฟ้า ศิลปินยุคเรเนซองส์หลายคนตีความดานายเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่ถูกบิดเบือนไปด้วยอำนาจของเงิน ผลกระทบของความมั่งคั่งที่แปดเปื้อนศีลธรรมและความรักอันบริสุทธิ์ของหญิงสาว เทพเจ้าซุสซื้อดานายด้วยทองคำ สิ่งลำค่าที่สามารถทำลายกำแพงทองเหลืองที่กักขังดานายเอาไว้ สามารถปลดล็อคหอคอยที่ร่ำลือกันว่าแน่นหนา สามารถทำให้หญิงสาวที่มีแววตาแข็งกร้าวจำต้องเข่าอ่อน สามารถบิดเบือนความตั้งใจของดานาย ไม่จำเป็นที่จะต้องมีคู่ครองเพื่อสวดมนต์ต่อเทพีอะโฟรไดท์ หากใครสักคนพร้อมจะหยิบยื่นความมั่งคั่งมาให้ 


Danae by Francois Boucher
หนึ่งในจิตรกรลำดับต้นๆของยุคเรเนซองส์ที่เขียนภาพเกี่ยวกับดานายคือ คอเรจจิโอ้ (Correggio)จิตรกรชาวอิตาลี คอเรจจิโอ้สร้างสรรค์ผลงานที่เน้นความนุ่มนวลของทั้งสีและแสง หลีกเลี่ยงการใช้โทนสีที่ตัดกันมากจนเกินพอดี ส่งผลให้โทนของภาพเขียนดูสุขุมเยือกเย็น แต่ก็อ่อนโยนมากพอที่จะทำให้คาร์แรคเตอร์จากเทพนิย่ายกรีกในภาพวาดของเขาดูอีโรติกได้อีกด้วย

Danae by Correggio, 1531
คอเรจจิโอ้จัดท่าทางดานายให้นอนเปลือยกายอยู่บนเตียง มีคิวปิดมาเป็นผู้ช่วยเปลื้องผ้าให้เธอขณะที่รอคอยการมาถึงของซุสที่กำลังก่อตัวขึ้นเป็นหมอกควันด้านบน ที่มุมขวาล่างของภาพมีพุตโต้ (Putto)(หากมีหลายตัว ภาษาอังกฤษจะเรียกเป็นรูปพหูพจน์ว่า พุตตี้(Putti)) สองตนนั่งเล่นกับลูกศรและก้อนหินอยู่ที่ปลายเตียง พุตโต้คือทารกเพศชายตัวน้อย หน้าตาท่าทางน่ารักด้วยปีกคู่น้อยสองข้างที่หลังคล้ายคิวปิด พุตโต้มีแรากฏให้เห็นนับตั้งแต่ศิลปะสมัยโบราณ แต่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งนับตั้งแต่ยุคกลางเรื่อยมาไปจนถึงยุคบาโร้ค และยุคเรเนซองส์ ภาพเขียนของคอเรจจิโอ้นั้นเน้นความเย้ายวนอีโรติค แต่จะไม่ออกมาบัดสีจนเกินไป ในเวลาต่อมาคอเรจจิโอ้ถือเป็นต้นแบบให้กับศิลปินอแนวรอคโคโค่อีกหลายคนทีเดียว

Danae with the Shower of Gold, Hermitage version by Titian
ภาพวาดชุด "ดานาย" ของติเตียน จิตรกรชาวอิตาเลียนซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยศตวรรษที่16 ประกอบไปด้วยภาพวาดของดานายอย่างน้อยห้าภาพ แต่ละเวอร์ชั่นก็มีรายละเอียดที่แตกต่างออกไป เพื่อให้เข้ากับค่านิยมของยุคเรเนซองส์ที่มีต่อดานาย ติเตียนวาดดานายของมาให้ช่วงตัวเป็นลักษณะของหญิงโสเภณี แต่ยังวาดใบหน้าให้ดูสง่างามตามแบบฉบับชนชั้นสูงของเมืองเวนิซ ในทุกๆเวอร์ชั่นจุดที่เหมือนกันคือดานายนอนชันเข่าทอดกายอยู่บนเตียง ร่างเปลือยเปล่า ทางด้านขวาจะเป็นข้ารับใช้ไม่ก็อีรอส เทพแห่งความรักทางด้านขวา และรายละเอียดปลีกย่อยในเชิงสัญลักษณ์อื่นๆจะอยู่ทางซ้าย บนฟ้าแสดงการปะทุของบางสิ่งบางอย่างแสดงถึงพลังของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งรู้สึกได้ถึงการมีอยู่แต่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จากรูปด้านบนจะเห็นว่าพี่เลี้ยงลืมหน้าที่ของตนที่จะต้องดูแลปกป้องดานาย ห่วงแต่จะวิ่งไปเก็บทองคำที่โปรยปรายลงมาจากฟากฟ้า เป็นสัญลักษณ์ของการติดสินบนได้ทางหนึ่ง

Danae with Eros, 1544 version by Titian
ด้านบนคือภาพของดานายเวอร์ชั่นปี 1544 จะเห็นว่าอีรอสนั้นหมดหน้าที่และเตรียมตัวหันหลังออกจากห้องไปเมื่อเห็นการมาถึงของซุส ติเตียนนับว่าเป็นหนึ่งในศิลปินที่ประสบความสำเร็จที่สุดในยุคของเขา ผลงานหลายๆชิ้นของติเตียนแสดงให้เห้นถึงการใช้สีและแสงที่ไร้ที่ติ แม้แต่ปรมาจารย์อย่าง มิเคลันเจโล (Michelangelo) ต้องถึงขั้นออกปากชมเชยกันเลยทีเดียว ผลงานชุดภาพดานายของติเตียนเป็นที่เลื่องลืออย่างแพร่หลายในวงการศิลปะ และเป็นแรงบันดาลใจในการวาดภาพของดานายให้กับศิลปินชื่อดังอีกหลายคนในเวลาต่อมา

หนึ่งในนันคือ เรมแบรนด์ (Rembrandt)ชื่อนี้หลายๆคนอาจจะรู้สึกคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ภาพดานายเป็นหนึ่งในภาพที่งดงามที่สุดในคอลเลคชั่นของเขา แม้ว่าตอนแรกนางแบบของภาพจะเป็น ซาสเกีย ภรรยาของเรมแบรนดท์ แต่ภายหลังเขาเปลี่ยนให้เป็นหน้าของ เกอร์เท ดิร์คซ์ เมียน้อยของเขาแทน(ไม่ค่อยเลยนะ)

Danae by Rembrandt, 1636
ภาพวาดของเรมแบรนด์จะเน้นการตัดกันของแสงและความมืด ในส่วนของภาพวาดดานายนั้น น่าเศร้าที่ในปี1985 มีการบุกรุกเข้าไปในพิพิธภัณฑ์เพื่อนทำลายภาพเขียนนี้โดยเฉพาะ  มีการสาดน้ำกรดและเอามีดกรีดที่ภาพวาดประมาณสองถึงสามครั้ง ส่วนที่ได้รับความเสียหายที่สุดคือใบหน้า ผม แขนขวาและขาของดานาย ถือเป็นโชคดีที่มีคนไปพบเห็น และได้เริ่มต้นการบูรณะได้ทันเวลาก่อนที่ภาพวาดจะเสียหายไปมากกว่านี้

อีกผู้หนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพวาดของติเตียนคือ กุสตาฟ คลิ้มท์ (Gustav Klimt) (กรี๊ดดด ศิลปินคนโปรดของเรา) ว่ากันว่าคลิ้มท์วาดผู้หญิงได้สวยงามที่สุด คงเป็นเพราะตัวเขาเองนั้นหมกมุ่นอยู่กับสตรีเพศจนแทบไม่เป็นอันทำอะไร น้อยนักที่เราจะได้เห็นเขาวาดรูปผู้ชาย หากวาดก็เป็นเพียงตัวประกอบในภาพวาดหญิงสาวผู้งดงามในหลากหลายอิริยาบถของเขาเท่านั้น ด้วยรายละเอียดหลายๆอย่างประกอบกันก็บ่งชี้ได้ว่าบางครั้งก็กล่าวได้ว่าภาพเขียนของคลิ้มท์เป็นแนวอีโรติคยวนใจ ส่วนใหญ่เกี่ยข้องอยู่กับความรักที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของใครคนหนึ่ง แต่เราว่านั่นแหละคือเสน่ห์ของภาพวาดของเขา เพราะมันออกมามีเสน่ห์มากกกกกก ดูนุ่มนวล อ่อนหวานแล้วก็เย้ายวนในคราวเดียวกัน ที่สำคัญคือมันดูไม่อุจาดหรือบัดสีใดๆเลยแม้ว่าหน้าตาท่าทางของนางแบบในภาพมันจะส่อมากๆก็ตาม มันทำให้เราเข้าใจว่าภาพนู้ดกับภาพเขียนที่สรรค์สร้างขึ้นมาจากจิตรกรเอกระดับโลกนี่มันคนละชั้นกันเลยจริงๆ มันดูเป็นศิลปะไปหมดทุกรูปเลย เราชอบเทคนิคของคลิ้มท์ที่มีการนำทองคำเปลวมาใช้ในภาพเขียนด้วย มันสวยแล้วก็ดูอลังการมากกกก ทำให้งานของคลิ้มท์นอกจากยากที่จะเลียนแบบแล้วยังออริจินอลด้วย ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร

Danae by Gustav Klimt, 1907
ภาพวาดจริงๆสีจะดูสดกว่านี้ และตรงส่วนที่ใช้ทองคำเปลวก็จะดูโดดเด่นกว่านี้ ดูจากใบหน้าของดานายเราก็เดากันได้ไม่ยากว่าเธอรู้สึกอย่างไร ดานายนอนขดอยู่บนผ้าสีม่วงผืนใหญ่ สีม่วงสื่อถึงความเป็นเชื่อพระวงศ์ของเธอ(ดานายเป็นเจ้าหญิงนะความจริงแล้ว) ว่ากันว่าคลิ้มท์หลงใหลในตัวผู้หญิงที่มีผมสีแดง คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เขาเลือกที่จะวาดดานายออกมาในลักษณะนี้ เทคนิคที่เขาใช้ในภาพดานายยังสามารถพบเห็นได้ในงานชิ้นอื่นๆของเขา เช่น Hygeia และ Water Snakes คลิ้มท์เป็นหนึ่งในแกนนำศิลปะแนวอาร์ต นูโว (Art Nuveau)ของเวียนนา แรงบันดาลใจของเขามาจากศิลปะของอียิปต์โบราณ บิสแซนทีน และยุโรปยุคกลาง

โดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่าภาพของดานายมันวาดออกมาในแนวอีโรติค การแปลความเรื่องราวของดานายก็ไม่แตกต่างกันมากนัก ถึงแม้จะแสดงถึงความละโมบในเงิน หรือใบ้ไว้ในลักษณะของหญิงงามเมือง แต่ในอีกมุมหนึ่งก็จะเน้่นถึงความเป็นหญิงสูงศักดิ์ของดานาย ภาพของดานายแสดงให้เห็นถึงสันดานดิบของมนุษย์ที่มีต่อวัตถุนอกกาย บางครั้งสิ่งล้ำค่าดั่งทองอาจทำให้ศีลธรรมของใครบางคนสั่นคลอนได้โดยง่ายแม้เธอะเป็นเพียงสาวน้อยไร้เดียงสาแค่ไหนก็ตาม การได้ศึกษาภาพของดานายอย่างละเอียดสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาตอของมนุษย์ในสังคม เธอเป็นเพียงสาวน้อยที่ถูกคุมขังอยู่ในหอคอย ในชีวิตเธอไม่มีความหวังหรือต้องการสิ่งล้ำค่าใดๆด้วยสถานะของเธอ แต่เมื่อมีความมั่งคั่งทรัพย์สมบลัติเข้ามา จิตใจของเธอยังสั่นคลอน นับประสาอะไรกับพวกเราที่ยังต้องขวนขวายหาเช้ากินค่ำ สิ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวของดานายอาจเป็นการเตือนใจให้พวกเราระลึกถึงความร้ายกาจของเงินทองก็เป็นได้


Danae by Joachim Wtewael


No comments:

Post a Comment