Friday, April 8, 2011

Danae and the Shower of Gold หญิงสาวผู้เลอโฉมกับละอองทองคำที่โปรยปราย (1)

สำหรับใครที่ชอบอ่านเทพนิยายกรีกโรมัน คงจะรู้สึกคุ้นเคยกับชื่อและตำนานของเพอร์ซุส (Perseus) วีรบุรุษผู้พิชิตเมดูซ่า(Medusa) อสุรกายในคราบหญิงสาวผู้มีผมเป็นงูได้เป็นอย่างดี แต่จะมีสักกี่คนกันที่จะจำ "ดานาย" (Danae) หญิงสาวผู้เป็นมารดาของเพอร์ซุสและเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ใจของเธอ ในวงการศิลปะ ตำนานของดานายเริ่มเป็นที่สนใจอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่ยุคเรเนซองส์เป็นต้นมา หนึ่งในศิลปินผู้มีชื่อเสียงซึ่งนำเรื่องราวของดานายมาตีแผ่บนผืนผ้าใบคือ คอเรจจิโอ้ (Corregio) ติเตียน (Titian) เรมแบรนด์ (Rembrandt) และกุสตาฟ คลิมท์ (Gustav Klimt)

Danae and the Shower of Gold
โดย Leon Francois Comerre

ดานายคือใคร? ตามลำดับเวลาของตำนานกรีก ดานายเป็นลูกหลานของ ไอโอ (Io)หญิงสาวที่เทพเจ้าซุสหลงรักและจำต้องเดินทางเร่รอนไปจนถึงอียิปต์ขณะแปลงกายเป็นวัว หลายสิบปีต่อมา ดานาอุส (Danaus)โหลนของไอโอเดินทางกลับอาร์กอสพร้อมบุตรสาวกว่าห้าสิบคนเพื่อทวงสิทธิโดยชอบธรรมของตนคืน หนึ่งในนั้นคือ ไฮเพอร์มเนสตร้า (Hypermnestra)ผู้มีศักดิ์เป็นทวดของดานาย บุคคลในตำนานผู้มีชื่อเสียงและสืบเชื้อสายมาจากดานายคือ เฮราคลีส (Herakles)ผู้เป็นเหลน และกษัตริย์ยูรีสเธียส (King Eurystheus)ผู้เป็นโหลนของเธอนั่นเอง


เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อกษัตริย์อคริสิอุส (Acrisius) แห่งเมืองอาร์กอส (Argos)ได้รับคำทำนายจากเทพพยากรณ์จากวิหารเดลฟี (Delphi) ว่าตนจะถูกปลิดชีพโดยหลานชายแท้ๆซึ่งเกิดกับเจ้าหญิงดานาย ธิดาสาวคนเดียวผู้เป็นดั่งแก้วตาดวงใจของตนเอง เมื่อได้ยินดังนั้นอคริสิอุสก็มิอาจปล่อยให้เรื่องเกิดขึ้นโดยไม่ได้พยายามทำอะไรสักอย่างเลยไม่ได้ เพื่อรักษาความเป็นพรหมจรรย์ของบุตรสาวตัวเองเอาไว้ให้ได้ถึงที่สุด เขาตัดสินใจกักขังดานายไว้ในหอคอยที่สร้างขึ้นจากทองเหลืองและไม่มีทางเข้าออก (บางตำราว่าเป็นถ้ำใต้ดิน) มีเพียงช่องบนหลังคาที่เจาะไว้เพื่อให้อากาศถ่ายเทเข้ามาในอาคารเท่านั้น ถึงกระนั้นความงามของเธอก็ยังเป็นที่โจษขานกันทั่วไป กระทั่งรู้ไปถึงเทพเจ้าซุส (Zeus)ซึ่งใช้โอกาสในวันหนึ่งเทพเจ้าซุสเข้าหาดานายในรูปลักษณ์ของฝนที่ตกลงมาเป็นละอองทองคำโปรยปรายลงมาจากฟากฟ้า (บางครั้งก็ว่ากันว่าลงมาในรูปแบบของเหรียญทอง) ด้วยความอิ่มเอมใจดานายลิ้มรสความสุขในกามารมณ์ขณะที่ละอองทองคำเหล่านั้นล่วงล้ำเข้าไปในร่างกายของเธอ ต่อมาไม่นานดานายก็ได้ให้กำเนิด เพอร์ซุส (Perseus) บุตรชายผู้มีสายเลือดผสมระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์ธรรมดา

แน่นอนว่าการถือกำเนิดของหนูน้อยเพอร์ซุสไม่สามารถเล็ดรอดสายตาของผู้เป็นตาไปได้ ถึงจะโกรธขนาดไหนแต่อคริสิอุสก็ไม่โง่พอที่จะสังหารเลือดเนื้อเชื้อไขของเทพเจ้าลงได้ ด้วยความหวาดกลัวถึงความตายที่พร้อมจะมาเยือน อคริสิอุสออกคำสั่งให้ทหารนำดานายและเพอร์ซุสน้อยนอนลงในหีบไม้ขนาดใหญ่ และปล่อยให้ทั้งสองล่องลอยไปเผชิญชะตากรรมในทะเลอันกว้างใหญ่แต่เพียงลำพัง ด้วยความดูแลอยู่ห่างๆจากเทพเจ้าซุส ในที่สุดทั้งสองก็เดินทางมาถึงเกาะเซริฟอส (Seriphos) ที่ซึ่งชาวประมงนาม ดิกทีส (Diktys)นำทั้งสองกลับไปดูแลที่บ้านของตนราวกับเป็นลูกของตนเอง

Soldiers put Danae and Her Son into the Chest
วันเวลาผ่านไปกระทั่งเพอร์ซุสเติบใหญ่ โพลีเดคทีส (Polydectys)เจ้าผู้ครองนครเซริฟอส ได้ท้าทายให้เขาเดินทางเข้าสู่การผจญภัยที่หลายๆคนรู้จักกันดี ที่ซึ่งเขาได้สังหารกอร์กอน (Gorgon) หรือเมดูซาลงได้ในท้ายที่สุด เรื่องราวการผจญภัยของเพอร์ซุสจะถูกกล่าวถึงในภายหลัง ตอนนี้เรากลับมาดูทางดานาย มารดาของเขากันต่อ

รูปโฉมของเธองดงามขึ้นเรื่อยๆตามวันเวลาที่หมุนผ่านเลยไป สาวน้อยดานายกลายเป็นหญิงสาวเต็มตัว น่าเศร้าที่มาบัดนี้ เธอถูกโพลีเดคทีสกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ให้เป็นทาส พยายามบังคับให้เธอแต่งงานกับเขา ด้วยเหตุนี้เพอร์ซุสจึงไม่ต่างอะไรกับก้างขวางคอชิ้นใหญ่ เพื่อปลดปล่อยแม่สู้อิสระ เพอร์ซุสจำใจเดินทางตามล่าอสุรกายกอร์กอนตามคำท่าจากโพลีเดคทีส ที่ว่าหากเขานำศีรษะของกร์กอนกลับมาให้ดูเป็นขวัญตาได้ (โพลีเดคทีสอ้างว่าเอาไปเป็นของขวัญแต่งงานกับฮิปโปเดเมีย) เขาจะเลิกตามตื๊อขอแต่งงานกับดานาย เมื่อบุตรชายจากบ้านจากเมืองไป ดานายก็เหมือนจะขาดผู้คุ้มกัน ความหวาดกลัวที่มีต่อแรงปราถนาอันบ้าคลั่งของโพลีเดคทีสทำให้เธอต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปหลบๆซ่อนๆอยู่พักใหญ่ จนเมื่อเพอร์ซุสกลับมาพร้อมหัวของกอร์กอน โพลีเดคทีสกับเหล่าทหารคนสนิทจึงได้ถูกสาปให้กลายเป็นหินไป เพอร์ซุสพาดานายกลับไปยังอาร์กอสเพื่อทวงบรรลังก์คืนจากผู้เป็นตา ระหว่างทางเขาเปลี่ยนเส้นทางไปยังเมือง ลาริสซา (Larissa) ที่ซึ่ง ณ ตอนนั้นมีการแข่งขันขว้างจักร เพอร์ซุสตัดสินใจเข้าร่วมและสุดท้าย จักรที่เขาขว้างออกไปก็กระเด็นไปโดน อคริสิอุส ซึ่งเดินทางมาร่วมชมกีฬา ณ เวลานั้นพอดี อคริสิอุสเสียชีวิตด้วยน้ำมือของหลานชายแท้ๆคนเดียวของตน เติมเต็มคำพยากรณ์ที่เคยให้ไว้อย่างสมบูรณ์

The Disc Hit King of Argos

ตลอดหลานศตวรรษที่ผ่านมา กวีหลายคนตั้งคำถามขึ้นมาว่าดานายปล่อยให้เรื่องราวทั้งเกิดขึ้นเพราะ "ความรัก" หรือเพราะสิ่งเย้ายวนใจอย่าง "ทองคำ" กันแน่

Danae Bell Krater Vase
ศิลปะบนแจกันแบบกรีกโบราณ 
จากภาพด้านบนจะเห็นได้ว่า ดานายเอนกายอยู่บนม้านั่งในท่าทางสบายๆ ละอองทองคำถูกวาดออกมาในลักษณะคล้ายเหรียญ เมื่อมองดุรายละเอียดรอบๆจะเห็นเป็นกระจกที่ทำจากทองเหลือง แก้วใบใหญ่ที่ใช้สำหรับผสมไวน์กับน้ำ และเหยือกไวน์ขนาดใหญ่ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าดานายถูกแสดงออกมาในบทบาทของโสเภณีชั้นสูง ซึ่งดูคุ้นเคยดีกับการจ่ายเงินด้วยจำนวนเหรียญทองที่เยอะมากๆแบบนี้

ในมหากาพย์ "เมตามอร์ฟอซิส" (Metamorphorses)โดยกวีโอวิด (Ovid)ได้ตั้งแง่ไว้ว่าที่แท้แล้วดานายทำไปก็เพื่อเงิน เขากล่าวถึงกษัตริย์มิดาส(Midas) (หากใครเป็นแฟนตำนานกรีกคงรุ้จักกันดี มิดาสคือคนที่เมื่อสัมผัสอะไรก็ตาม สิ่งนั่นจะเเปรเปลี่ยนเป็นทองคำไปเสียหมด) "หากเขา(มิดาส)จุ่มมือลงในน้ำ น้ำนั้นคงสามารถซื้อใจดานายได้" (เมตามอร์ฟอซิส บทที่11 บรรทัดที่117)


คอนเซปต์ของการติดสินบนในสังคมมนุษย์นั้นเก่าแก่มากพอๆกับงานเขียนของ ยูริพิดีส (Euripides)ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วยสี่ร้อยกว่าปีก่อนคริสตกาล ในบทละครเรื่องดานายเวอร์ชั่นของเขานั้น กล่าวกันว่าอคริสิอุสรับรู้เรื่องราวทั้งหมดเมื่อเห็นเหรียญทองสองสามเหรียญตกอยู่บนพื้นห้องของดานาย เนื้อเรื่องหลังจากนั้นคือการโต้วาทีกันระหว่างดานาย อคริสิอุส และข้ารับใช้ที่ถูกกล่าวหาว่ารับสินบนจากเศรษฐีผู้หนึ่งเพื่อเปิดทางให้เขาเข้าไปพบกับดานาย น่าเสียดายที่งานชิ้่นนี้หายสาบสูญไป เหลือเพียงหลักฐานแค่ไม่กี่ชิ้นเท่านั้น





No comments:

Post a Comment